โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้มีอาการชาที่ใบหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเคลื่อนไหวลำบากอย่างทันทีทันใด เป็นนาที หรือเป็นชั่วโมง
ที่มา : สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease, Stroke) หรือโรคอัมพาต/อัมพฤกษ์เป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากสถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2548 (Public Health Statistics A.D.2005) พบว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 3 ในประชากรไทย และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้น ได้มีการศึกษาอัตราความชุกของโรคหลอดเลือดสมองในชุมชนเมือง จำนวน 1,361 ราย ในกรุงเทพมหานคร เมื่อปีพ.ศ. 2526 พบว่ามีอัตราเท่ากับ 690/100,000 ของประชากรที่อายุเกิน 20 ปี 2 และล่าสุดในปีพ.ศ. 2541 ได้มีการศึกษาวิจัยในประชากรผู้สูงอายุ (เกิน 60 ปี) ในชนบท 4 ภาคทั่วประเทศ 3,036 ราย สอดคล้องกับรายงานการศึกษาที่เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างกระทรวง สาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก พบว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญ อันดับ 1 ในเพศหญิงและอันดับ 2 ในเพศชาย นอกจากนี้ยังพบว่าโรคหลอดเลือดสมองยังเป็นโรคที่เป็นสาเหตุ ของการสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability Adjusted Life Year) ที่สำคัญอันดับที่ 2 ทั้งในชายและหญิง
ที่มา : แนวทางการพยาบาล ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับพยาบาลทั่วไป

F : Face ปากเบี้ยว มุมปากด้านใด ด้านหนึ่งตกลงหรือไม่ขยับ ฉับพลัน สังเกตได้โดยให้ ยิ้มหรือยิงฟัน
A : Arm แขนขาอ่อนแรงฉับพลัน ให้ผู้ป่วยยกแขนตั้งฉากกับ ลำตัวนาน 10 วินาทีแล้ว พบว่าแขนข้างใดข้างหนึ่ง ตกลง
S : Speech พูดไม่ชัด พูดไม่สะดวก ใช้คำผิด คำพูดสับสนหรือ ไม่สามารถพูดได้ฉับพลัน
T : Time หากมีอาการใดอาการหนึ่ง ข้างต้นนี้อย่างทันทีทันใด ให้กดโทรหมายเลข 1669 หรือมาโรงพยาบาลที่ ใกล้ที่สุดทันที
ที่มา : สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย
โรคหลอดเลือดสมองนั้นเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้หากขาดการป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ซึ่งการรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคซ้ำได้
การรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
จากตารางเทียบดัชนีมวลกายข้างต้น เป็นตัวชี้วัดว่าน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ หากมีน้ำหนักตัวเกินหรือภาวะอ้วน ควรจำกัดการบริโภคอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มที่ให้พลังงานสูง เช่น อาหารที่มีแป้งและน้ำตาล หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด อาหารไขมันสูง หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแกงกะทิ และ ของทอด เป็นต้น
ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
ควรควบคุมอาหารที่จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เนื่องจากหากมีภาวะความดันโลหิตสูง อาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้ การบริโภคอาหารเพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง มีดังนี้
1. ลดเค็มจำกัดการรับประทานโซเดียมไม่เกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง เช่น อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง เครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรส
2. รับประทานผักผลไม้ให้หลากหลาย เป็นประจำทุกวัน
ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
อาหารประเภทไขมันมีความจำเป็นสำหรับร่างกาย เนื่องจากให้พลังงานและช่วยในการดูดซึมวิตามินต่างๆ เราจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารประเภทไขมัน แต่ปริมาณไขมันที่ได้รับไม่ควรเกิน ร้อยละ 25 –30 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับจากสารอาหารเพราะเมื่อรับประทานมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ จะทำให้เกิดโรคอ้วนและภาวะไขมันในเลือดสูงได้ แนวทางในการบริโภคอาหาร เพื่อลดปริมาณไขมันในเลือด มีดังนี้
1. หลีกเลี่ยงหรือลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันหมู หมูสามชั้น เนย ครีม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม อาหารที่ทำจากกะทิ เพราะกรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
2. จำกัดปริมาณคอเรสเตอรอลในอาหารไม่เกิน วันละ 300 มิลลิกรัม
– รับประทานไข่แดงไม่เกินสัปดาห์ละ 3 ฟอง
– หลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ทุกชนิด
– หลีกเลี่ยงอาหารทะเลบางชนิด เช่น กุ้ง ปลาหมึก หอยนางรม
– เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่นปลา เนื้อไก่ไม่ติดหนัง เต้าหู้
– เลือกดื่มนมพร่องมันเนย หรือ นมไขมันต่ำ
3. เลือกวิธีการปรุงอาหารที่ใช้ไขมันน้อย เช่น ต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ ย่าง ยำ แทนการทอดหรือผัด ซึ่งใช้น้ำมันในปริมาณมาก
4. รับประทานไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณที่พอเหมาะ เช่น ใช้น้ำมันพืชในการประกอบอาหารแทนการใช้น้ำมันจากสัตว์ ซึ่งน้ำมันพืชที่ดี คือ น้ำมันมะกอก รองลงมาคือ น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าว แต่ต้องเลือกใช้น้ำมันให้เหมาะสมกับวิธีการปรุงประกอบ เช่น น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าวเหมาะสมกับการผัด ส่วนน้ำมันปาล์มเหมาะสมกับการทอดเพราะมีจุดเกิดควันสูง สามารถทอดอาหารได้กรอบแต่ควรใช้เพียงครั้งเดียว (ไม่ควรใช้น้ำมันในการทอดอาหารซ้ำ)
5. รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงเช่น ผัก ผลไม้ ข้าวซ้อมมือ ถั่วเมล็ดแห้ง เนื่องจากใยอาหารจะช่วยลดการดูดซึมไขมันได้
6. หลีกเลี่ยงน้ำหวาน ขนมหวานทุกชนิดที่หวานมีน้ำตาลหรือแป้งมาก รับประทานข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปังแต่พอสมควร รวมถึงการหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพราะจะสะสมเกิดเป็นไขมันได้
ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาหารที่รับประทานเข้าไป จะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคส ถ้ารับประทานอาหารมากเกินไปน้ำตาลที่นำไปใช้ไม่หมดจะสะสมอยู่ในกระแสเลือด ถ้ามีมากก็จะออกมาในปัสสาวะได้ ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบมากกว่าปกติซึ่งโรคดังกล่าวนั้นก็จะส่งผลให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้ หลักในการเลือกรับประทานอาหารสำหรับคนเบาหวานดังนี้
1. รับประทานอาหารให้หลากหลาย และรับประทานให้เป็นเวลา
2. หลีกเลี่ยงของหวานและอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาล
3. รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีใยอาหารมากขึ้น เช่น ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
– อาหารที่มีรสหวานจัด ขนมหวาน น้ำตาลทุกชนิด
– ผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน
– น้ำหวาน ลูกอม ลูกกวาด น้ำอัดลม
ที่มา : ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
คือ การฟื้นฟูเพื่อลดอาการความพิการ หรือป้องกันความพิการให้ได้มากที่สุด เพื่อการใช้ชีวิตให้เป็นปกติที่สุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ป่วยที่สามารถเข้ารับการฟื้นฟูได้ ได้แก่ ผู้ป่วยระบบประสาท ระบบสมอง กล้ามเนื้อและกระดูกรวมไปถึงหัวใจและปอด
สำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตจัดเป็นอาการป่วยทางสมอง ซึ่งมีสาเหตุมาจากเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก ทำให้อ่อนแรงบางส่วนหรือขยับร่างกายไม่ได้เลยทั้งร่างกาย นอกเหนือจากการขยับร่างกายก็อาจมีในเรื่องของอาการชา พูดจาไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เข้าใจ หรือมีปัญหาเรื่องการกลืน รวมถึงการหมดสติ
การฝึกฝนให้ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต
ส่วนของแขน จะฝึกเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและทิศทางของแขน โดยจะเน้นในเรื่องของการเหยียดมากที่สุด เพราะคนไข้มักจะมีปัญหาในเรื่องของการเหยียด ส่วนการเดินจะฝึกในท่าเดินที่ถูกต้อง และมีการเน้นในเรื่องของจำนวนครั้ง ยิ่งฝึกมากเท่าไรก็จะยิ่งดีขึ้น บางครั้งอาจมีการใช้เครื่องช่วยในการบำบัดด้วย ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนักกายภาพ โดยวิธีการฝึกจะมีความหลากหลายอย่างมาก ขึ้นอยู่กับอาการที่เป็นและระดับความรุนแรง
ระยะเวลาในการฟื้นฟูที่เหมาะสม
นับตั้งแต่เริ่มป่วยถึง 3-6 เดือน เป็นระยะที่ดีที่สุดในการฟื้นฟู โดยใน 3 เดือนแรกจะมีการฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว และชะลอช้าลงจนถึง 6 เดือน หลังจาก 6 เดือนเป็นต้นไป ก็ยังสามารถพัฒนาได้อีก แต่ช้าลง อาจต้องใช้ตัวช่วยเพิ่มเติมมากขึ้น สำหรับการรักษาเบื้องต้นสำคัญที่สุดคือการป้องกันโรคแทรกซ้อน
ที่มา : ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิยาลัยมหิดล
ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันได้ ได้แก่
- อายุ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
- เพศ เพศชายจะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันได้มากกว่าเพศหญิง
- เชื้อชาติ พันธุกรรมบางชนิด เช่น กลุ่มอาการมาร์ฟาน (Marfan syndrome) จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเซาะตัวของหลอดเลือด ซึ่งนำไปสู่การตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมองได้สูงกว่าบุคคลทั่วไป
- พันธุกรรม ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ ได้แก่
- ภาวะความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- การสูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเป็น 2 เท่า
- ภาวะไขมันในเลือดสูง
- โรคเลือดบางชนิด เช่น ภาวะเลือดข้นผิดปกติ เกล็ดเลือดสูง เม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติ
- โรคหัวใจ รวมทั้งหัวใจวายและภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด
- ขาดการออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ
- โรคอ้วน หรือภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะนอนกรน
- การดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่ดื่มปานกลางจนถึงดื่มจัด จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโณคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนปกติ
- การใช้ยาเสพติด หรือยากระตุ้นบางชนิด
- ภาวะเครียด
ที่มา : สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช
1. ทราบและจำค่าความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และระดับคอเลสเตอรอลของตัวเอง
2. บริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม และเพิ่มผัก ผลไม้ในมื้ออาหาร
3. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
4. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
5. งด/ลดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
6. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
ที่มา : สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
คำถามที่ 1 เมื่อมีอาการสมองขาดเลือด ตามปกติจะใช้เวลารักษามากน้อยเพียงไร และจะกลับมาเป็นปกติได้หรือไม่
ตอบ ทั้งระยะเวลาในการรักษา และระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยจะมากน้อยขนาดไหน ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดกับสมองของผู้ป่วยเป็นสำคัญ สิ่งสำคัญ คือ ควรให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อสมองน้อยที่สุด
คะแนนความพึงพอใจ
/ 5.