โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือ Chronic Obstructive Pulmonary Disease (COPD) เป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้ ซึ่งเป็นผลจากการระคายเคืองเรื้อรังต่อปอด จากฝุ่น และแก๊สพิษ ที่สำคัญที่สุดได้แก่ ควันบุหรี่ ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหรืออาการกำเริบเฉียบพลัน จะมีผลต่อความรุนแรงของโรค
ที่มา : ข้อแนะนำการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พ.ศ. 2560
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นสาเหตุสำคัญของอัตราการเจ็บป่วย และอัตราการตายของประชากรทั่วโลก จากสถิติองค์การอนามัยโลกพบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประมาณ 210 ล้านคน คิด
เป็นร้อยละ 10 ของประชากรในวัยผู้ใหญ่ และคาดว่าจะเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 3 ของประชากรโลกในปีค.ศ.2030 และ ในปีค.ศ.2000 ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเสียชีวิต 2,750,000 คน เป็นอัตราการตาย
ร้อยละ 4.8 และเป็นสาเหตุการตายอันดับ5 ของโรค รองจาก โรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดสมอง การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง และโรคเอดส์อัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มขึ้น
1.3 เท่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 40 คน ต่อประชากร 100,000 คน
ปี 2561 ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นในประเทศไทย กลุ่มผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไป มีจำนวน 169,009 คน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 159,398 คน และ ปี 2559 จำนวน 152,319 คน
ที่มา : สถาบันโรคทรวงอก
โดยทั่วไปโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมักหมายรวมถึงโรค 2 โรค คือ
1. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) ผู้ป่วยมักมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ โดยมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ปีละอย่างน้อย 3 เดือน เป็นติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี โดยไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น
2. โรคถุงลมโป่งพอง (Pulmonary emphysema) คือ โรคที่มีพยาธิสภาพการทำลายของถุงลม และหลอดลมฝอยแลกเปลี่ยนแก๊ส โดยมีการขยายตัวโป่งพองอย่างถาวร
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักพบโรคทั้งสองดังกล่าวอยู่ร่วมกัน และออกแยกจากกันได้ยาก
ที่มา : ข้อแนะนำการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พ.ศ. 2560
ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ควรกินอาหารเพื่อ
- ให้มีน้ำหนักตัวคงที่
- ให้กล้ามเนื้อหายใจทำงานได้ดี
- เสริมภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านกับเชื้อโรค
การให้อาหารได้เหมาะสมจะช่วยลดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดและการหายใจดีขึ้น ซึ่งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน จะถูกเผาผลาญเพื่อให้เกิดพลังงาน พร้อมทั้งได้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำออกมา การกินคาร์โบไฮเดรตจะผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากที่สุด และการกินไขมันจะผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อยที่สุด
การกินอาหารที่มีไขมันสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำจะลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ในผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่มักหอบเหนื่อยหรือมีระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงภายหลังจากกินอาหารที่มีสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรตสูงก็ควรเปลี่ยนมากินอาหารที่มีสัดส่วนของไขมันสูงแทน อาหารที่มีไขมันสูง (ปริมาณไขมัน 55% ของสารอาหารทั้งหมด) จะมีประโยชน์กับผู้ป่วยมากกว่าอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง (ปริมาณาร์โบไฮเดรต 55% ของสารอาหารทั้งหมด) เพราะจะลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์และลดการใช้ออกซิเจนมาย่อยสลาย ซึ่งจะทำให้การหายใจดีขึ้น
ในกรณีผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีอาการคงที่ก็อาจไม่ต้องกินอาหารที่มีไขมันสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำ เพราะในบางรายก็ทนต่อผลข้างเคียงจากการกินอาหารที่มีไขมันสูงไม่ได้ จนอาจมีอาการท้องอืดหรือท้องเสียเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังบางรายอาจมีโรคหัวใจร่วมด้วย ซึ่งการกินอาหารที่มีปริมาณไขมันสูงย่อมไม่ดีต่อสุขภาพ
สมาคมโภชนาการในอเมริกาแนะนำว่าให้กินอาหารเพื่อชดเชยพลังงานที่ใช้ไป แต่ไม่ใช่ให้กินอาหารปริมาณมากเกินไปเพราะปริมาณอาหารที่มากเกินไปจะทำให้ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่าการกินอาหารที่มีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตมากเสียอีก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังต้องหายใจหอบมากขึ้นเพื่อขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากร่างกาย
การกินอาหารโปรตีนเพื่อป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อลีบเล็ก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และการหายใจดีขึ้น โดยทั่วไปแนะนำให้กินโปรตีน 1.2-1.7 ก./กก./วัน หรือประมาณ 20% ของสารอาหารที่ให้พลังงานทั้งหมด
นอกจากนี้ควรดื่มน้า 2-3 ลิตร/วัน เพื่อให้เสมหะไอออกได้ง่ายและปากไม่แห้ง
อาหารช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของโรค เพราะให้ทั้งพลังงานและช่วยสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย ดังนั้นจึงควรกินอาหารที่ให้พลังงานมากขึ้นเพื่อต้องการเพิ่มพลังงานในการหายใจมากขึ้น
การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตที่กินเข้าไปทำให้ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามาก ซึ่งทำให้ปอดต้องทำงานมากขึ้นในการขับออก ดังนั้นแนะนำให้กินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำและไขมันสูง โดยมีปริมาณโปรตีนที่เพียงพอ
อาหารที่แนะนำในผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง
วิธีกินอาหารที่ช่วยให้การหายใจดีขึ้น
- กินอาหารที่ให้พลังงานสูงในตอนเช้า
- ควรกิน 6 มื้อเล็ก ๆ/วัน แทนการกิน 3 มื้อใหญ่/วัน เพื่อไม่ให้เหนื่อยง่ายขณะกินอาหาร รวมทั้งควรให้เสิร์ฟอาหารหวานหลังกินอาหารหลักไปแล้ว 30-60 นาที
- เคี้ยวช้า ๆ เพื่อให้ละเอียดจะได้ไม่กลืนอากาศเข้าไปมากในขณะกลืน
- เลือกกินอาหารที่เคี้ยวง่าย
- จำกัดเกลือเพราะเกลือทำให้ร่างกายบวมน้ำและหายใจเหนื่อยขึ้น
- กินอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีเพื่อเสริมกระดูก
- เลี่ยงอาหารที่ผลิตแก๊สมาก เพราะจะทำให้ท้องตึงจนหายใจลำบาก เช่น บรอคโคลี่ กะหล่ำปลี ถั่ว ข้าวโพด แตงกวา แตงโม หัวหอม แอปเปิ้ลดิบ อาหารทอด น้ำอัดลม
- กินในท่านั่งเพื่อให้ปอดทำงานได้ดี
- ดื่มน้ำหลังกินอาหารเสร็จ โดยไม่ควรดื่มน้ำบ่อยระหว่างกินอาหารเพราะจะอิ่มเร็ว นอกจากนี้ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้เสมหะไอออกง่าย และป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ดมออกซิเจนในขณะกินอาหาร เพราะการกินและย่อยอาหารล้วนต้องใช้ออกซิเจนทั้งสิ้น
- จำกัดการกินอาหารที่มีคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนรบกวนการดูดซึมยาบางอย่าง และทำให้ใจสั่น
- พักผ่อนหลังกินอาหารเสร็จ
ที่มา : อาหารสำหรับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Nutritional Management in COPD ) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะช่วย
- ลดอาการเหนื่อยหอบและไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยๆ
- ป้องกันกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เพิ่มความทนทานและความสามารถในการออกกำลัง
- สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น
- ลดความกังวลช่วยให้เกิดการผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ
การหายใจเพื่อลดอาการหอบเหนื่อย
ขั้นตอนที่ 1 หายใจเข้าทางจมูกช้า ๆ ลึก ๆ
ขั้นตอนที่ 2 ห่อปากแล้วค่อย ๆ หายใจออกทางปากช้า ๆ โดยทำปากจู๋โดยให้มีช่วงการหายใจออกนานกว่าช่วงหายใจเข้า และ เกร็งหน้าท้องร่วมด้วยในช่วงสุดท้ายของการหายใจออก
การออกกำลังกาย
1. เดิน วันละ 30 นาที ซึ่งระยะทางและเวลาในแต่ละรอบต้องให้แพทย์เป็นผู้ประเมิน
2. ท่าออกกำลังกาย (รอบละ 10 ครั้ง วันละ 3 รอบ)
ท่าที่ 1
ท่าเริ่มต้น : ประสานมือไว้ที่ท้ายทอย หุบข้อศอกลง ก้มหน้าลงเล็กน้อย หายใจเป่าปากออกจนสุด
วิธีทำ : กางข้อศอกออกทางด้านข้าง ยืดตัวขึ้นตรงพร้อมหายใจเข้าลึก ๆ
ท่าที่ 2
ท่าเริ่มต้น : ยกแขนขึ้นมาระดับหัวไหล่
วิธีทำ : ยกแขนขึ้นพร้อมกับหายใจเข้า ลึก ๆ แล้วยกแขนลงพร้อมกับหายใจ เป่าปากออกช้า ๆ ยาว ๆ เป่าปากออกช้า ๆ ยาว ๆ
ท่าที่ 3
ท่าเริ่มต้น : กางแขนออกมาข้างลำตัวขนานกับพื้น
วิธีทำ : กางแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะพร้อมหายใจเข้าทางจมูกลึก ๆ แล้วหุบแขนลงมาแนบข้างลำตัวพร้อมหายใจออกทางปากยาว ๆ
ท่าที่ 4
ท่าเริ่มต้น : มือถือขวดน้ำแนบข้างลำตัวหงายฝ่ามือขึ้น
วิธีทำ :
– งอศอกยกขวดน้ำขึ้นมาให้สุดพร้อมเป่าปากออก
– เหยียดศอกออกให้ตรงพร้อมหายใจเข้าทางจมูกลึก ๆ
– ทำทั้งสองข้าง
ท่าที่ 5
ท่าเริ่มต้น : นั่งบนเก้าอี้ เท้าสองข้างวางบนพื้น
วิธีทำ :
– เตะขาขึ้นมาช้า ๆทีละข้าง พร้อมเป่าปากออก ค้างไว้เล็กน้อย
– วางขาลงที่เดิมพร้อมหายใจ เข้าทางจมูกลึกๆ
*ควรหยุดออกกำลังกายเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
1. เริ่มเจ็บแน่นหน้าอก
2. ใจสั่น
3. เหนื่อยหอบมาก
4. มีไข้ เป็นหวัด ท้องเสีย
5. หน้ามืด เวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ เป็นลม
6. หายใจสั้นๆ หรือถี่มาก
7. เหงื่อออกผิดปกติ ตามมือ-เท้า หรือมีอาการเย็นซีดจนผิดปกติ
ที่มา : แนวทางการให้การรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง สถาบันโรคทรวงอก
แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ปัจจัยด้านผู้ป่วย เช่น ลักษณะทางพันธุกรรม
2. ปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อม ได้แก่
– ควันบุหรี่ เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของโรคนี้
– มลภาวะทั้งในบริเวณบ้าน ที่ทำงาน และที่สาธารณะ ที่สำคัญคือ การเผาไหม้เชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร และสำหรับขับเคลื่อนเครื่องจักรต่าง ๆ
ที่มา : ข้อแนะนำการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พ.ศ. 2560
1. ลด ละ ลเก การสูบบุหรี่
2. ใช้หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละออง หรือเครื่องป้องกัน ในโรงงานที่มีความเสี่ยง เช่น โรงงานปั่นฝ้าย โรงสีข้าว เป็นต้น
3. รู้จักการใช้หน้ากากอนามัยป้องกันมลพิษทางอากาศ
ที่มา : กองโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
คำถามที่ 1 ผู้ที่สูบบุหรี่สามารถประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย ๆ ได้อย่างไร
ตอบ ประเมินจากนำปริมาณที่สูบในแต่ละวันคิดออกมาเป็น pack-year โดยคำนวณ จากจำนวนซองที่สูบเฉลี่ยต่อวัน (1 ซองมี 20 มวน) คูณกับจำนวนปีที่สูบ โดยผู้ป่วย COPD มักมี ประวัติสูบบุหรี่จัด คือ > 20 pack-year
คะแนนความพึงพอใจ
/ 5.