

หน้าหลัก / ข้อบังคับสมาคม
ข้อบังคับสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย
หมวดที่ 1
ความทั่วไป
ข้อ 1 สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย” ชื่อย่อว่า “สครท.”
ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Association of Thai NCD Alliance” ชื่อย่อว่า “ATNCDA”
ข้อ 2 ตราสัญลักษณ์ “สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย” คือ เป็นลายเส้นสีสอดประสานกันไปมา มีลักษณะคล้ายลูกตระกร้อ สื่อถึงการประสานความร่วมมือซึ่งกันและกัน ประกอบด้วยสี 8 สี ซึ่งเป็นสีประจำหน่วยงานของภาคีเครือข่าย รูปห้าเหลี่ยมสีขาวตรงกลาง หมายถึง กลุ่มโรคไม่ติดต่อ 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคมะเร็ง และสุขภาพจิต ด้านล่างของเครื่องหมายมีชื่อภาษาไทยว่า สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย และ ภาษาอังกฤษว่า Association OF THAI NCD ALLIANCE วางอยู่
คำว่า Association หมายถึง สมาคม ที่ประชุมของผู้ที่มีจุดประสงค์เดียวกันและมุ่งทำประโยชน์ร่วมกัน
คำว่า THAI หมายถึง ที่เกี่ยวกับคนไทย ประเทศไทย
คำว่า NCD หมายถึง กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs) หมายรวมถึง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้น โรคไต สุขภาพจิต เป็นต้น
SOCIETY OF THAI NCD ALLIANCE |
คำว่า ALLIANCE หมายถึง พันธมิตร ในที่นี้หมายถึงองค์กรสหวิชาชีพทางด้านสุขภาพ
ข้อ 3 สำนักงานใหญ่ของสมาคมฯ ตั้งอยู่ ณ อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี ชั้น 7 เลขที่ 2 ซอยศูนย์วิจัย 1 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของสมาคมฯ เพื่อ
4.1 สนับสนุนการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ตามความเชี่ยวชาญขององค์กรสมาชิก (Shared accountability)
4.2 สนับสนุนและส่งเสริมนโยบายด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ เพื่อสุขภาวะของประชาชนอันก่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ (Policy advocacy)
4.3 สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ พร้อมสนับสนุน ส่งเสริม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดยไม่เลือกปฏิบัติ (Health literacy, public participation without discrimination)
4.4 ไม่มุ่งหวังผลกำไรทางการค้า (Non-profit organization)
4.5 ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
หมวดที่ 2
สมาชิก
ข้อ 5 สมาชิกของสมาคมฯ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
(1) สมาชิกกิตติมศักดิ์
(2) สมาชิกสามัญ
(3) สมาชิกสมทบ
- สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคมฯ ซึ่งคณะกรรมการบริหารมีมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
- สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข ตัวแทนของหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานในกำกับของรัฐ องค์กร ตัวแทนของนิติบุคคล หรือนิติบุคคลที่เป็นมูลนิธิ สมาคม ชมรมวิชาชีพที่เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อและสนใจในวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ
- สมาชิกสมทบ ได้แก่ ตัวแทนของบริษัทที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สถาบันการศึกษา องค์กร หรือชมรม ที่สนใจในวิชาการด้านโรคไม่ติดต่อ และสนใจในวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ
ข้อ 6 คุณสมบัติของสมาชิกสามัญ
6.1 กรณีเป็นบุคคลธรรมดา
6.1.1 ต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาสูบและธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
6.1.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
6.1.3 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
6.1.4 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือน ไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษการต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ เท่านั้น
- กรณีเป็นนิติบุคคล
6.2.1 เป็นองค์กรที่มีพันธกิจหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน รักษา โรคกลุ่มไม่ติดต่อที่สอดคล้อง กับวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ
6.2.2 ได้รับมติของที่ประชุมองค์กร หรือได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจ ให้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ
ข้อ 7 ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ
- สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
- สมาชิกสามัญ ต้องชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ ตามอัตรา ดังนี้
ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ เป็นครั้งแรก 1,000 บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน)
(หมดอายุสมาชิกภาพวันสิ้นปีปฏิทิน)
ค่าต่ออายุสมาชิกภาพและค่าบำรุงสมาคมฯ เป็นรายปี ๆ ละ 1,000 บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน)
(1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของทุกปี)
7.3 สมาชิกสมทบ ต้องชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ ตามอัตรา ดังนี้
ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ เป็นครั้งแรก 1,000 บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน)
(หมดอายุสมาชิกภาพวันสิ้นปีปฏิทิน)
ค่าต่ออายุสมาชิกภาพและค่าบำรุงสมาคมฯ เป็นรายปี ๆ ละ 1,000 บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน)
(1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของทุกปี)
- เงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ ที่สมาชิกได้ชำระให้แก่สมาคมฯ แล้ว ไม่อาจเรียกคืนได้ ทุกกรณี
ข้อ 8 การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัคร ตามแบบของสมาคมฯ ต่อเลขาธิการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 1 คน และให้เลขาธิการแจ้งสมาชิกสามัญด้วยจดหมายอีเล็กโทรนิกส์ และติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคมฯ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้สมาชิกอื่น ๆ ของสมาคมฯ ได้คัดค้านการสมัครนั้น เมื่อครบกำหนดประกาศแล้วให้เลขาธิการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร เพื่อพิจารณาอนุมัติ ว่าจะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ และเมื่อคณะกรรมการบริหารพิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใดให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว
ข้อ 9 เมื่อคณะกรรมการบริหารพิจารณาอนุมัติให้ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ แล้ว ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ ให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการ และสมาชิกภาพของผู้สมัครให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ ภายในกำหนด ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้น เป็นอันยกเลิก
ข้อ 10 สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่ คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้มาถึงยังสมาคมฯ
ข้อ 11 สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
11.1 ตาย
11.2 เลิก หยุด ยุบ หรือเปลี่ยนแปลงสถานะองค์กร
11.3 ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหาร ซึ่งคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
11.4 สิ้นสุดระยะเวลาการเป็นสมาชิก และไม่ประสงค์จะต่ออายุการเป็นสมาชิก
11.5 ไม่ชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ ภายในเดือนมีนาคมของปีนั้นๆ
11.6 ขาดคุณสมบัติสมาชิก
11.7 ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมฯ หรือคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน
ข้อ 12 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
12.1 มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมฯ โดยเท่าเทียมกัน
12.2 มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมฯ ต่อคณะกรรมการบริหาร
12.3 มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
12.4 มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคมฯ
12.5 สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหาร ในตำแหน่งต่าง ๆ และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 คะแนนเสียง
12.6 สมาชิกสามัญมีสิทธิเข้าร่วมกันลงชื่ออย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ร้องขอต่อ คณะกรรมการบริหารให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
12.7 มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการบริหาร เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคมฯ
12.8 มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมฯ โดยเคร่งครัด
12.9 มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ
12.10 มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคมฯ
12.11 มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมฯ ได้จัดให้มีขึ้น
12.12 มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมฯ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
หมวดที่ 3
การดำเนินการและการบริหารงานของสมาคมฯ
ข้อ 13 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการบริหาร” ทำหน้าที่บริหารกิจการของ สมาคมฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีจำนวนอย่างน้อย 7 คน อย่างมากไม่เกิน 30 คน คณะกรรมการบริหารมาจากการเสนอชื่อของสมาชิกสามัญ สมาชิกละไม่เกิน 1 ชื่อ และได้การรับรองจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคมฯ หากมีจำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อเกิน 30 คน จะต้องจัดให้มีการลงคะแนนจากสมาชิกสามัญเพื่อเลือกตั้ง คณะกรรมการบริหาร
ให้ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการบริหาร เลือกกันเองเป็นนายกสมาคมฯ 1 คน และอุปนายกสมาคมฯ 1 คน สำหรับกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ให้นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ของสมาคมฯ ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการ มีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขป ดังต่อไปนี้
13.1 นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคมฯ เป็นผู้แทนสมาคมฯ ในการติดต่อกับบุคคลและหน่วยงานภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร และการประชุมใหญ่ของสมาคมฯ
13.2 อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมฯ ในการบริหารกิจการสมาคมฯ ปฏิบัติตามหน้าที่ที่นายกสมาคมฯ ได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมฯ เมื่อนายกสมาคมฯ ไม่อยู่หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมฯ ให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
13.3 เลขาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมฯ ทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ ในการปฏิบัติกิจการของสมาคมฯ และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคมฯ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคมฯ
13.4 เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคมฯ เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคมฯ และเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมฯ ไว้เพื่อตรวจสอบ
13.5 ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคมฯ เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคมฯ และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของสมาคมฯ
13.6 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมฯ ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมฯ จากสมาชิก
13.7 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมฯ ให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
13.8 สารสนเทศ มีหน้าที่บริหารจัดการด้านสารสนเทศต่างๆ ของสมาคม
13.9 กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการบริหารเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้น โดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้ว จะต้อง ไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ หากคณะกรรมการบริหาร มิได้กำหนดตำแหน่งกรรมการให้ถือว่าเป็นกรรมการ และให้ใส่ด้วย ว่ากรรมการ
ข้อ 14 คณะกรรมการบริหารสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี นับตั้งแต่ได้รับการจดทะเบียน และเมื่อคณะกรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนจากทางราชการ ให้คณะกรรมการบริหารที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการบริหารชุดใหม่จะได้รับการจดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการบริหาร ชุดใหม่ได้รับการจดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่าง คณะกรรมการบริหารชุดเก่าและคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้น ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ได้รับการจดทะเบียนจากทางราชการ
ข้อ 15 ตำแหน่งกรรมการ หากต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระให้คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น และหากเป็นตำแหน่งนายกสมาคมฯ ว่างลง ให้คณะกรรมการบริหารเลือกกันเองเป็นนายกสมาคมฯ
ข้อ 16 กรรมการอาจพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
16.1 ตาย
16.2 ลาออก
16.3 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
16.4 เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสียและคณะกรรมการบริหารมีมติให้ออก โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของคณะกรรมการบริหาร
ข้อ 17 กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่ง ให้กรรมการยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการบริหารมีมติให้ออก
ข้อ 18 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร
18.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อ ข้อบังคับนี้
18.2 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ
18.3 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้ง
18.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
18.5 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
18.6 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคมฯ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอำนาจอื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
18.7 มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคมฯ
18.8 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญ จำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
18.9 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
18.10 จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคมฯ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิก ได้รับทราบ
18.11 มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
ข้อ 19 คณะกรรมการบริหารจะต้องประชุมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคมฯ
ข้อ 20 การประชุมคณะกรรมการบริหาร จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร หากข้อบังคับมิได้กำหนดไว้ เป็นอย่างอื่น ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่หากคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 21 ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร หากนายกสมาคมฯ และอุปนายกสมาคมฯ ไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ 4
การประชุมใหญ่
ข้อ 22 การประชุมใหญ่ของสมาคมฯ มี 2 ประเภท คือ
22.1 การประชุมใหญ่สามัญ
22.2 การประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 23 คณะกรรมการบริหารจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ 1 ครั้ง สมาชิกสามารถ เข้าประชุมในสถานที่จัดประชุม หรือ เข้าประชุมทางไกลผ่านอินเทอร์เนตก็ได้
ข้อ 24 การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจมีขึ้นได้ด้วยเหตุที่คณะกรรมการบริหารเห็นควรจัดให้มีขึ้นหรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ได้ ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด
เมื่อคณะกรรมการบริหารได้รับหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการบริหารเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
ถ้าคณะกรรมการบริหารไม่เรียกประชุมภายในระยะเวลาตามวรรคสอง สมาชิกที่เป็นผู้ร้องขอ ให้เรียกประชุมหรือสมาชิกอื่นรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนสมาชิกที่กำหนดตามวรรคแรกจะเรียกประชุมเองก็ได้
ข้อ 25 การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและ การแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิก ได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมฯ เป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดประชุมใหญ่หรือลงโฆษณาอย่างน้อยสองคราวในเว็บไซต์ที่แพร่หลายในท้องที่ ฉบับหนึ่งก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันก็ได้
ข้อ 26 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
26.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
26.2 แถลงบัญชีรายรับ รายจ่ายและบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
26.3 เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่เมื่อครบกำหนดวาระ
26.4 เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
26.5 ตรวจสอบทะเบียนสมาชิกให้เป็นปัจจุบัน
26.6 เรื่องอื่น ๆ ถ้ามี
ข้อ 27 การประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ ต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่ง หรือไม่น้อยกว่า 50 คน จึงจะครบองค์ประชุม หากถึงกำหนดเวลาการประชุมแล้วสมาชิกยังไม่ครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมใหญ่ครั้งนั้นเป็นการประชุมใหญ่ตามคำเรียกร้องของสมาชิกให้งดการประชุม แต่ถ้าเป็นกรณีการประชุมใหญ่ ที่คณะกรรมการบริหารเป็นผู้เรียกประชุม ให้เรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก การประชุมครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจะต้องครบองค์ประชุม
ข้อ 28 การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ หากข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก เป็นเกณฑ์ แต่หากคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 29 ในการประชุมใหญ่ของสมาคมฯ หากนายกสมาคมฯ และอุปนายกสมาคมฯ ไม่มาร่วมประชุมหรือ ไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ 5
การเงินและทรัพย์สิน
ข้อ 30 การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหาร เงินสดของสมาคมฯ ถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารกรุงไทย
ข้อ 31 การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคมฯ จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมฯ หรือผู้ทำการแทน ลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขาธิการ จึงจะถือว่าใช้ได้
ข้อ 32 ให้นายกสมาคมฯ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมฯ ได้ครั้งละไม่เกิน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร
ข้อ 33 ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมฯ ได้ไม่เกิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมฯ ทันทีที่โอกาสอำนวยให้
ข้อ 34 เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคมฯ หรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิก หรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมฯ ทุกครั้ง
ข้อ 35 ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต
ข้อ 36 ผู้สอบบัญชี มีอำนาจที่จะเรียกเอกสารเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการบริหาร และสามารถเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมฯ ได้
ข้อ 37 คณะกรรมการบริหารจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ
หมวดที่ 6
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคมฯ
ข้อ 38 ข้อบังคับของสมาคมฯ จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
ข้อ 39 การเลิกสมาคมฯ จะเลิกได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคมฯ ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุ ของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมฯ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญ ที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด
ข้อ 40 เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ให้ที่ประชุมใหญ่คราวนั้นลงมติเลือกตั้งกำหนดตัวผู้ชำระบัญชีเสียด้วย ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ตกเป็นของ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
หมวดที่ 7
บทเบ็ดเตล็ด
ข้อ 41 การตีความตามข้อบังคับนี้ หากเป็นที่สงสัยให้ที่ประชุมใหญ่ โดยเสียงข้างมากของที่ประชุมชี้ขาด
ข้อ 42 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคมมาใช้บังคับ เมื่อข้อบังคับ ของสมาคมฯ มิได้กำหนดไว้ และหากมีข้อใดข้อหนึ่งในข้อบังคับนี้ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ให้ถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อ 43 สมาคมฯ ต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ
หมวดที่ 8
บทเฉพาะกาล
ข้อ 44 สมาชิกก่อตั้งให้เว้นค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาชิกไว้ 3 ปี
ข้อ 45 คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดก่อตั้ง ได้มาจากการเสนอชื่อของสมาชิกชุดก่อตั้ง มีวาระ 1 ปี นับตั้งแต่ได้รับการจดทะเบียน
ข้อ 46 ข้อบังคับนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่สมาคมฯ ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป
ข้อ 47 เมื่อสมาคมฯ ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญและสมาชิกภาพของคณะกรรมการบริหารที่ตั้งขึ้น เริ่มตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไป
(ลงชื่อ) ……………………………………….. ผู้จัดทำข้อบังคับ
(ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง วรรณี นิธิยานันท์)
(นายกสมาคม)
- There are no upcoming events.
ป้ายกำกับ
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย
ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย
สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่
เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ
สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ
สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ
สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย
สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)
สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย
สภาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ แห่งประเทศไทย
มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน